วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

การจัดการอาหาร ในครอบครัว


การจัดการอาหาร ในครอบครัว
อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญของมนุษย์ อาหารเมื่อบริโภคเข้าไปและหลังจากย่อยแล้วจะไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนั้นคุณภาพของอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญอาหารนอกจากสนองความต้องการทางด้านร่างกายของมนุษย์แล้ว อาหารยังสนองความต้องการทางด้านจิตใจ สังคม และวัฒนธรรม เราใช้อาหารเป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือใช้อาหารเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติ เช่น พิซซ่าเป็นอาหารจากประเทศอิตาลีอาหารประเภทข้าวหรือเครื่องเทศเป็นอาหารจากเอเชีย
นอกจากนี้ในการเลือกหรือจัดการอาหารยังขึ้นอยู่กับครอบครัว ประเพณี และวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆด้วยเช่นกันในปัจจุบันท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมที่หลั่งไหลไปในทิศทางเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อการจัดการอาหาร จากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้การจัดการอาหารแตกต่างไปจากเดิม ในอดีตการปรุงอาหารในครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ต้องมีกระบวนการต่างๆมากมาย เช่น การซื้อ การเตรียม และการปรุง แต่ในปัจจุบันเมื่อแม่บ้านมีเวลาจำกัดอาหารสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆจึงเป็นที่นิยม เนื่องจากสะดวก ง่าย และรวดเร็ว นอกจากนี้ค่านิยมในการบริโภคอาหารประเภทจานด่วนได้รับความนิยม จึงทำให้การบริโภคอาหารของครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามในความต้องการอาหารของมนุษย์จะมีความต้องการ ดังนี้


ภาพที่ 1 ภาพพิซซ่าอาหารสำหรับคนรุ่นใหม่ที่นิยมในปัจจุบัน
1. ความต้องการทางกาย (Physical Needs)
ร่างกายที่มีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอยู่ที่การดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง ในการดูแลรักษาสุขภาพนอกเหนือจากการออกกำลังกายและการพักผ่อนแล้วการบริโภคอาหารก็มีความสำคัญ หากบริโภคในสิ่งที่ชอบหรือกินในสิ่งที่พอใจบางครั้งอาจทำให้ขาดคุณประโยชน์ของอาหาร นอกจากนี้การบริโภคโดยไม่คำนึงถึงชนิดและปริมาณของอาหารอาจก่อให้เกิดปัญหาของสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่ออาหารมีความสำคัญต่อสุขภาพและร่างกายของมนุษย์แล้ว จึงควรให้ความสำคัญกับอาหารที่บริโภคว่ามีความจำเป็นและเหมาะสมกับร่างกายอย่างไรคำว่า อาหารหมายถึง สิ่งที่บริโภคเข้าไปแล้วทำให้อิ่ม ซึ่งอาจมีทั้งคุณประโยชน์และโทษ ส่วนคำว่า โภชนาการหมายถึง อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้วร่างกายสามารถนำไปเผาผลาญเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ
และทำให้ร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานโรค (Paolucci, Faiola and Thompson, 1973:101.)ดังนั้นคำว่า อาหารและโภชนาการจึงเป็นสิ่งคู่กัน เราจะบริโภคอาหารให้อิ่มเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงว่าอาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างใดอาหารจึงมีความสำคัญต่อความต้องการทางกายของมนุษย์

2. ความต้องการทางด้านจิตวิทยา (Psychological Needs)
ความต้องการของอาหารทางด้านจิตวิทยาจะมีผลทางด้านจิตใจ มีผู้คนไม่น้อยที่ใช้อาหารเป็นเครื่องบ่งบอกถึงฐานะ ความเป็นอยู่ และสถานภาพของตนเอง การรับประทานอาหารในภัตตาคารที่หรูหรา ราคาแพง มีการต้อนรับที่ดีจะทำให้มั่นใจในความสะอาดหรือเพื่อแสดงฐานะของตนเอง ปัจจุบันวัยรุ่นนิยมเข้าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเพื่อแสดงว่าตนเองทันสมัยหรือมีรสนิยมและเป็นที่ยอมรับจากสังคมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ความต้องการของอาหารทางด้านจิตวิทยาจึงเป็นเรื่องของจิตใจในแต่ละบุคคล

3. ความต้องการทางสังคม (Social Needs)
ในงานเลี้ยงสังสรรค์หรือโอกาสพิเศษต่างๆจะใช้อาหารเป็นส่วนประกอบ โดยอาหารที่จัดจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนได้เข้ามาร่วมกันในวงสังคม ได้พูดคุย พบปะ และรับประทานอาหารร่วมกัน หรือในบางครั้งการปรุงอาหารร่วมกันก็ถือเป็นการอยู่ในสังคมร่วมกันได้

4. ความต้องการทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Needs)
ศาสนาบางศาสนาจะมีข้อกำหนดหรือข้อห้ามเกี่ยวกับการบริโภคอาหารบางอย่างตามแต่เหตุผลและความเชื่อที่มีมาแต่โบราณกาล ศาสนาบางศาสนา เช่น ศาสนาอิสลามจะห้ามบริโภคเนื้อหมู หรือศาสนาฮินดูจะห้ามบริโภคเนื้อวัว เป็นต้น อาหารหลายอย่างเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา โดยใช้ประสบการณ์ทางด้านจิตวิญญาณเป็นศูนย์กลางความเชื่อถือ ความเคารพสักการะหรือแม้แต่ประเพณีบางประเพณีที่ให้ความสำคัญกับอาหาร เช่น ประเพณีไหว้เจ้า หรือไหว้พระจันทร์ เป็นต้น (Paolucci, Faiola and Thompson,1973: 106.)
นอกจากความต้องการต่างๆที่กล่าวมา อาหารยังเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมต่างๆเข้าหากัน เช่น ชาวตะวันตกนิยมรับประทานอาหารไทย ในขณะที่คนในภูมิภาคเอเชียนิยมรับประทานอาหารแบบตะวันตก เป็นต้น

สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคอาหาร
นอกจากปัจจัยพื้นฐานของความต้องการในการบริโภคอาหารแล้ว สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคอาหารนับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ควรศึกษาเนื่องจากในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงการถ่ายทอดวัฒนธรรม สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคอาหารมีดังนี้
1. สภาพของสังคมในปัจจุบัน
ในปัจจุบันประชากรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้อาหารจากธรรมชาติลดลง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภค ในอดีตประชากรที่อาศัยในชนบทสามารถอาศัยอาหารจากแหล่งธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แหล่งน้ำ หรือพื้นดิน แต่เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นแหล่งอาหารต่างๆจึงลดลง ครอบครัวต้องซื้อหาอาหารจากแหล่งต่างๆ ทำให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อหาอาหารได้ ทำให้เกิดปัญหาภาวะการขาดแคลนอาหารขึ้น
2. การพัฒนาของเทคโนโลยี
เมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อทุกสิ่ง กระบวนการผลิตอาหารต่างๆจึงเกิดการพัฒนาขึ้น ในการผลิตอาหารจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีรูปแบบต่างๆน่ารับประทานยิ่งขึ้น เช่น การถนอมอาหาร การแปรรูปอาหาร หรือการปรุงอาหาร สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความต้องการต่อผู้บริโภคมากขึ้น
3. การพัฒนาทางการสื่อสาร
การสื่อสารเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาจากเทคโนโลยี ในปัจจุบันการสื่อสารสามารถสื่อสารถึงกันทั่วโลกทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารตามการโฆษณามากขึ้น
4. การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม
เมื่อการสื่อสารสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วโลก จึงก่อให้เกิดการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมในปัจจุบันครอบครัวไทยรับเอาวัฒนธรรมการบริโภคอาหารจากต่างชาติมาเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของตนเองอย่างกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ หรืออาหารญี่ปุ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการบริโภคอาหารของครอบครัวไทยในปัจจุบันจนกลายเป็นค่านิยมที่ได้รับความนิยมและขาดไม่ได้อย่างในเช่นปัจจุบัน ดังนั้นจะเห็นว่าในปัจจุบันอาหารจากต่างประเทศได้มีการขยายสาขาบริการอย่างมากมายทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีราคาแพงแต่ก็ได้รับความนิยม
5. การเปลี่ยนแปลงของครอบครัว
ในอดีตครอบครัวไทยเป็นครอบครัวใหญ่ที่อยู่รวมกันของญาติพี่น้อง แต่ในปัจจุบันเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงครอบครัวจึงหดตัว การบริโภคอาหารจึงต้องเร่งรีบ เร่งด่วน หาง่ายประหยัดเวลาและแรงงาน ดังนั้นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารปรุงสำเร็จจึงเป็นที่ต้องการของการบริโภคในปัจจุบัน
6. เพศ และวัยของสมาชิกในครอบครัว
หากในครอบครัวมีสมาชิกที่มีอายุหรือเพศต่างกัน การจัดการอาหารในครอบครัวจะแตกต่างกัน เด็กวัยรุ่นจะบริโภคอาหารที่ต่างจากผู้สูงอายุเพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการอาหารที่ให้พลังงาน ในขณะที่ผู้สูงอายุต้องการอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพ เพศและวัยจึงเป็นปัจจัยหนึ่งในการบริโภคอาหารของครบครัว
7. ข้อมูลข่าวสารด้านอาหาร
ข้อมูลข่าวสารด้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ครอบครัวควรรู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องต่างๆของอาหารเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการเลือกซื้ออาหารของครอบครัวข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยในการย่อยได้ดีการบริโภคอาหารสุขภาพต่างๆ เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพร หรืออาหารชีวะจิต เป็นต้น
8. สุขภาพ
ในปัจจุบันผู้คนสนใจในสุขภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการเลือกในการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น การบริโภคอาหารจากธรรมชาติ อาหารเส้นใย จากพืช ผัก ผลไม้ และถั่วต่างๆ จึงเป็นที่นิยมเนื่องจากบำรุงรักษาสุขภาพและร่างกายให้แข็งแรง
9. บุคลิกลักษณะ
บุคลิกลักษณะของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเพศหญิงหรือชายต่างก็ต้องการให้มีบุคลิกภาพดี การับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการจึงเป็นสิ่งสำคัญกับบุคลิกภาพ หากรับประทานอาหารมากเกินไปร่างกายใช้อาหารเหล่านั้นไม่หมดก็จะเก็บ
สะสมไว้ตามบริเวณต่างๆของร่างกาย เช่น รอบเอว ต้นแขน ต้นขา ทำให้อ้วนและมีบุคลิกภาพไม่ดี ดังนั้นในการบริโภคอาหาร ควรบริโภคให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ลดอาหารประเภทแป้ง ไขมัน และน้ำตาล หันมาออกกำลังกายจะทำให้มีบุคลิกภาพที่ดีและแข็งแรงขึ้น (Paolucci, Faiola and Thompson, 1973: 109.)จากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาเป็นรูปแบบของการบริโภคอาหารของครอบครัวในปัจจุบันซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้หากมีปัจจัยใหม่ๆเกิดขึ้นในอนาคต


โภชนบัญญัติ 9 ประการ ได้แก่

1.             บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยบริโภคให้หลากหลาย และหมั่นควบคุมดูแลน้ำหนักอยู่เสมอ

2.              บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และสลับกับอาหารประเภทแป้งบ้างเป็นบางมื้อ และข้าวที่บริโภคควรเป็นข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เพราะมีเส้นใยสูงและยังมีสารอาหารหลายชนิด อาทิ วิตามินบี 1 บี 2
3.              กินพืชผักให้มากและกินผลไม้เป็นประจำ ผักและผลไม้มีเส้นใยช่วยให้ถ่ายคล่องไม่อ้วน ลดระดับไขมันในเส้นเลือด อาหารที่มีเส้นใยสูงได้แก่ ข้าวกล้อง ฝรั่งมะม่วง มะขาม ผักสด ผลไม้ต่างๆ นอกจากนี้ยังได้วิตามิน และแร่ธาตุอีกด้วย
4.              บริโภคปลาหรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ เนื่องจากเนื้อสัตว์มักมียาปฏิชีวนะตกค้างอยู่มากทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้ และเนื้อสัตว์ที่ติดมันยังเป็นไขมันอิ่มตัวเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
5.             ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย และควรตรวจดูแหล่งผลิตให้แน่ใจ
6.             บริโภคอาหารที่มีไขมันแต่พอควร งดไขมันจากสัตว์ และหลีกเลี่ยงการใช้ไขมันที่ผ่านกระบวนการที่ใช้ความร้อนสูง เพราะกรดไขมันจะเปลี่ยนรูปเป็นไขมันที่ร่างกายไม่ใช้ เช่น การใช้น้ำ มันในการทอดไม่ควรใช้ไฟแรงจนควันขึ้นนอกจากนี้หากบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงนอกจากจะทำให้อ้วนแล้วยังเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย
7.              หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสจัด เช่น เค็มจัด หรือหวานจัด การบริโภคอาหารที่มีรสจัดต่างๆจะสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ดี และนำไปสู่การเป็นโรคต่างๆได้ง่าย
8.              บริโภคอาหารที่สะอาดและปราศจากสารปนเปื้อน ควรบริโภคอาหารจากธรรมชาติ เพราะร่างกายต้องการสารอาหารที่บริสุทธิ์และปราศจากสารปรุงแต่งอาหารสังเคราะห์ต่างๆ เช่น อาหารที่ผ่านการฟอกสี หรือขัดให้ขาว เช่น แป้งหรือข้าวจะขาดเส้นใยและวิตามิน เป็นต้น
9.              ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพราะแอลกอฮอล์จะกระตุ้นหัวใจให้ทำงานมากขึ้นทำให้หลอดเลือดขยายการไหลเวียนของโลหิตแรงขึ้นและกดสมอง ทำให้สมองส่วนควบคุมการทำงาน

โภชนบัญญัติทั้ง 9 ประการนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติมีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ยังมีข้อควรคำนึงในการบริโภคอาหารว่า 
"ควรกินพอ กินดี และกินหลากหลาย"

กินพอ คือ กินอาหารให้ครบทุกหมู่ มากน้อยตามความพอดีของร่างกาย เพศและวัย
กินดี คือ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย
กินหลากหลาย คือ กินอาหารห้าหมู่สับเปลี่ยนหมุนกันให้ครบ

นอกจากนี้ควรคำนึงถึงคุณค่าของการบริโภคอาหาร จากข้อมูลในนิตยสารใกล้หมอเรื่อง กินเพื่อสุขภาพ ได้แสดงตารางเปรียบเทียบคุณค่าอาหารไทยและคุณค่าอาหารจานด่วนเพื่อแสดงถึงคุณค่าของอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคได้พิจารณาถึงประโยชน์และสารอาหารที่ได้รับเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจการบริโภคอาหารอย่างมีคุณค่า

การจัดรายการอาหาร
เมื่อทราบถึงคุณค่าของสารอาหารต่างๆ ขั้นตอนต่อไปคือการจัดรายการอาหารที่จะบริโภคในแต่ละวัน การจัดรายการอาหารในแต่ละวันควรระบุไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน อาจจัดไว้ล่วงหน้าเป็นรายสัปดาห์ เพื่อสะดวกในการจัดซื้อ ประหยัดเวลา แรงงาน และได้รับประทานอาหารครบหมู่ ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้

การจัดรายการอาหารของครอบครัว
1.             คำนึงถึงสมาชิกของครอบครัว เช่น เพศ วัย และกิจกรรมของสมาชิก เพศชายจะบริโภคมากกว่าเพศหญิง วัยรุ่นจะต้องการอาหารมากกว่าผู้สูงอายุ หรือสมาชิกที่ทำงานใช้แรงงานจะต้องการอาหารที่อิ่มทนและนาน
2.             กำหนดรายการอาหาร โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการและรายการอาหารที่จัด ว่ามีคุณค่าต่อมื้อต่อวันอย่างไร มีรสชาติที่แตกต่างกันอย่างไร เช่น กรอบ นุ่มแกง หรือ ผัด และเหมาะสมกับจำนวนของสมาชิกอย่างไร สมาชิกชอบอย่างไรเพื่อป้องกันการเหลือทิ้ง หรือสมาชิกไม่ชอบ
3.             คำนึงถึงงบประมาณในการจัด โดยการควบคุมการจ่าย เช่น วางแผนการจ่ายการซื้อของในฤดูกาลหรือซื้อของที่จำเป็นเก็บไว้และนำมาใช้ในครั้งต่อไป
4.             จดรายการอาหารที่จะทำให้แต่ละวันให้ชัดเจน เพื่อหาผู้ช่วยหรือผู้รับผิดชอบหรือคำนึงถึงชนิดของอาหารว่าชนิดใดเหมาะสมกับมื้อใด เพื่อจะได้กำหนดไว้ล่วงหน้ารวมทั้งการเตรียมอาหารให้เหมาะสมกับเวลาด้วยเช่นกัน(Oppenheim, 1979: 178.)

การเลือกซื้ออาหาร
เมื่อจัดรายการอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว แม่บ้านหรือผู้ที่รับผิดชอบในการจัดอาหารสำหรับครอบครัวจะมีหน้าที่ในการซื้ออาหาร ในการซื้ออาหารต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อจะได้ประหยัดทรัพยากรของครอบครัวในด้านต่างๆ อาทิ เวลา แรงงาน และงบประมาณ ในการวางแผนการเลือกซื้ออาหารควรคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญต่างๆ

คุณสมบัติของผู้ซื้ออาหารสำหรับครอบครัว
ผู้ซื้ออาหารของครอบครัวควรเป็นผู้ที่ช่างสังเกต จดจำและละเอียดรอบคอบ เช่น จำได้ว่าสมาชิกคนใดชอบอาหารประเภทใด หรือไม่ชอบอะไร เพื่อจะได้จัดหาอาหารที่ชอบมารับประทานหรือประกอบอาหาร เพราะจะได้ไม่เหลือทิ้งทำให้สิ้นเปลือง นอกจากนี้ผู้ซื้ออาหารควรมีความรอบคอบในการเลือกซื้อ มีความละเอียดถี่ถ้วน ก่อนซื้อควรจดบันทึกรายการอาหารเพื่อง่ายต่อการซื้อ และยังสะดวกประหยัดทั้งเงิน เวลา แรงงาน และงบประมาณด้านอาหารของครอบครัว นอกจากนี้ผู้ซื้ออาหารของครอบครัวยังต้องหมั่นศึกษาและสนใจในอาหารใหม่ๆอยู่เสมอเพื่อให้สมาชิกของครอบครัวได้บริโภคอาหารที่ดีและมีประโยชน์

การทำความสะอาดและจัดเก็บอาหาร
หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรมีการเก็บล้างหรือทำความสะอาดภาชนะและบริเวณเตรียมควรขอความร่วมมือจากสมาชิกช่วยกันเก็บล้างและทำความสะอาด เพื่อเป็นการฝึกระเบียบวินัย และความรับผิดชอบ ในการล้างควรใช้กระดาษทิชชูกวาดเศษอาหารออกจากจานและล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนหนึ่งครั้งจึงล้างด้วยน้ำยาล้างจาน คว่ำภาชนะให้แห้งเมื่อแห้งแล้วควรเช็ดแล้วเก็บเข้าตู้ให้เรียบร้อยโดยเก็บรวมกันตามแต่ละประเภท เพื่อความเป็นระเบียบ เรียบร้อย และใช้ได้อย่างสะดวก เช่น ครกกับสากควรอยู่ด้วยกัน หม้อและกระทะควรอยู่ด้วยกัน ส่วนมีดควรแยกเก็บและมีที่เก็บอย่างมิดชิดปลอดภัยและควรมีถังขยะเตรียมไว้ในครัวเสมอจะเห็นว่าจากกระบวนการจัดการอาหารที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ดังนั้นหากต้องการให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่ดี กินดี และมีสุขภาพแข็งแรงจึงควรมีการจัดการอาหารสำหรับครอบครัวที่ดีเพื่อให้เหมาะสมกับคำว่า คุณจะเป็นเหมือนอย่างที่คุณรับประทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น